มะละกอพันธุ์ต่างๆ


มะละกอที่เป็นที่รู้จัก มีการผลิตและซื้อขายกว้างขวางในตลาดโลกได้แก่ มะละกอในกลุ่ม “Solo” 

หรือที่เรียกกันว่ามะละกอฮาวาย ตามมาด้วยมะละกอพันธุ์ของเม็กซิโก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

มะละกอในกลุ่มโซโล หรือมะละกอฮาวาย เป็นมะละกอสดที่มีการซื้อขายเป็นหลักอยู่ในตลาดโลก

ลักษณะทั่วไป คือผลขนาดเล็ก ประมาณ 300-500 กรัม (1-2 ปอนด์) ผลทรงลูกแพร์ (บ้างเรียกทรงระฆัง)

มีคอเล็กๆ ตรงขั้ว เนื้อละเอียด หอมหวาน สีของเนื้อจะอ่อนกว่าพันธุ์ของไทย มีทั้งสีเหลืองอมส้มหรือเหลืองจำปา

และส้มออกแดงที่เรียกว่าสีแซลมอน

Kapoho solo/ Solo เนื้อสีเหลืองจำปา ความหวานประมาณ 13 องศาบริกซ์ เปลือกแข็ง ทนต่อการขนส่ง

วางขายได้นาน เป็นมะละกอพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดในฮาวายก่อนที่จะถูกโรคไวรัสจุดวงแหวนเข้าทำลายเป็นส่วนใหญ่

Puna solo คล้ายกับคาโปโฮโซโลมาก เนื้อสีเหลืองจำปา แต่เปลือกนอกไม่แข็งเท่า

 มีความต้านทานต่อเชื้อราบางชนิด จึงสามารถปลูกได้ดีในที่ฝนชุก

Sunrise/ Solo sunrise/ Sunrise solo เนื้อสีส้มแดง เนื้อละเอียด หอมหวาน มีความสามารถปรับตัวเข้ากับ

สภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ผลผลิตดก จึงเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกอย่างกว้างขวางในโลก

Sunset/ Solo sunset ลักษณะคล้ายพันธุ์ซันไรส์ ลูกค่อนข้างเล็กกว่า และผลผลิตไม่ดกเท่า

Waimanalo เนื้อสีส้มเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว หวานมาก ความหวานประมาณ 14 องศาบริกซ์

เป็นมะละกอต้นเตี้ย ผลผลิตสูง และมีความทนทานโรคและแมลงดี

มะละกอเม็กซิโก แบ่งตามสีเป็น 2 พันธุ์ คือ

Mexican red (หรือ Maradol) เนื้อสีแดง และ Mexican yellow เนื้อสีส้มเหลืองสด

ลักษณะโดยทั่วไป เป็นมะละกอลูกใหญ่ เปลือกหนา หนักประมาณ 1.5-3 กิโลกรัมให้ผลผลิตสูง

เนื้อไม่หวานเท่าพันธุ์ฮาวาย ค่อนข้างทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน

มะละกอพันธุ์อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีมะละกอพันธุ์อื่นๆ ซึ่งค่อนข้างเป็นที่รู้จักกว้างขวางในระดับโลก

และมีลักษณะโดดเด่นน่าสนใจ คือ

Tainung # 1 เป็นพันธุ์ของไต้หวัน ขนาด 800-1,500 กรัม เนื้อแดง รสหวาน หอม อายุวางขายนาน

Red lady เป็นพันธุ์ของไต้หวันที่ทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน เนื้อหนา แดง ขนาด 1.5-2 กิโลกรัม

Cariflora เป็นพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาไม่นาน ทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน ผลทรงกลม ขนาดเท่าแคนตาลูป

เนื้อสีเหลืองเข้มไปถึงส้มอ่อน (ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเป็นพันธุ์ของที่ใด)

ในส่วนของประเทศไทย แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากมะละกอพันธุ์ของต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน หลังผ่านการ

ปลูกอย่างแพร่หลาย ผสมพันธุ์ปนเปกันไป และคัดเลือกพันธุ์ดีต่อๆ กันมา มะละกอของไทยหลายพันธุ์จึงมี

ลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากแหล่งที่มาดั้งเดิม

  พันธุ์มะละกอที่มีลักษณะเด่นและเป็นที่นิยมปลูกในเมืองไทยมีดังนี้





พันธุ์แขกดำ เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในปัจจุบัน ทั้งบริโภคสดและส่งโรงงาน

ลักษณะประจำพันธุ์เป็นมะละกอพันธุ์เตี้ย ก้านใบมีสีเขียว สั้นและแข็งแรง ก้านใบตั้งตรง

ใบหนากว่าพันธุ์อื่นๆ ออกดอกติดผลเร็ว ผลทรงกระบอกยาว เปลือกสีเขียวเข้ม

ผลดิบเนื้อแน่นกรอบใช้ทำส้มตำได้ดี เมื่อสุกเนื้อจะมีสีแดง รสหวานอร่อย ช่องว่างภายในผลแคบ

เมล็ดน้อย น้ำหนักผลประมาณ 1-2 กิโลกรัม นิยมบริโภคทั่วไปทั้งแบบผลดิบและผลสุก



พันธุ์แขกนวล เป็นพันธุ์มะละกอที่เกิดขึ้นทีหลัง กลายพันธุ์มาจากพันธุ์แขกดำ นิยมปลูกเพื่อส่งโรงงานแปรรูป

ลักษณะทั่วไปคล้ายพันธุ์แขกดำ แต่เปลือกจะมีสีอ่อนกว่าและมีผิวนวลชัดเจน ผลดิบเนื้อแน่นกรอบใช้ทำส้มตำได้ดี

ผลสุกเนื้อสีแดงส้ม รสหวาน บริโภคได้ทั้งดิบและสุก แต่การบริโภคสุกไม่เป็นนิยมเท่าแขกดำ



พันธุ์โกโก้ เป็นมะละกอพันธุ์เตี้ย ก้านใบสีม่วงและลำต้นอ่อนมีสีม่วงอยู่ประปราย

ผลมีลักษณะค่อนข้างยาว หัวผลเล็กและเรียว ส่วนท้ายใหญ่โป่งออกมาเป็นสะโพกเห็นได้ชัด เปลือกผลสีเขียว

ผิวเกลี้ยงเป็นมันช่องว่างพูเป็นเหลี่ยมชัดเจน ช่องว่างภายในผลค่อนข้างกว้าง

เมื่อสุกเนื้อสีแดงแต่ไม่แดงจัดเท่าพันธุ์แขกดำ

รสหวาน เนื้อไม่แน่นเท่าพันธุ์แขกดำแต่แน่นกว่าพันธุ์สายน้ำผึ้ง พันธุ์นี้เหมาะสำหรับบริโภคสุก

พันธุ์สายน้ำผึ้ง เป็นมะละกอพันธุ์เตี้ย ก้านใบสีเขียวอ่อนหรือเขียวปนขาว ก้านใบยาวกว่าพันธุ์แขกดำ

แต่แข็งแรงน้อยกว่า ก้านใบล่างมีลักษณะเอนลงสู่พื้น ผลมีขนาดปานกลาง รูปร่างผลกลม แคบ หัวแหลมปลายแหลม

ปลายผลจะใหญ่กว่าส่วนหัวเล็กน้อย เปลือกมีสีเขียวและบางกว่าเปลือกของพันธุ์แขกดำ

ช่องระหว่างพูเป็นเหลี่ยมชัดเจน ช่องว่างภายในผลกว้างปานกลาง มีเมล็ดมาก

เมื่อสุกเนื้อจะออกสีส้มปนเหลือง รสหวานจัดมะละกอพันธุ์นี้เหมาะสำหรับบริโภคสุก

 แต่เก็บไว้ไม่ได้นานเพราะเนื้อเละง่าย

พันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมานาน ปลูกแบบเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ปลูกเป็นการค้า

เหมือนพันธุ์ที่กล่าวมาข้างต้น ปล่อยไปตามธรรมชาติ มีลักษณะไม่ค่อยแน่นอนทั้งผลและลำต้น

แต่โดยทั่วไปแล้ว พันธุ์พื้นเมืองจะให้ผลค่อนข้างเล็ก ทรงผลกลม เนื้อบาง ช่องว่างในผลกว้าง

เมื่อสุกเนื้อจะออกสีเหลือง และเนื้อค่อนข้างเละ ไม่นิยมบริโภคสุก มักใช้ประโยชน์จากผลดิบมากกว่า

พันธุ์พื้นเมืองมักจะออกดอกติดผลช้า แต่มีข้อดีที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี

เพราะมีการปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นมานานนอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังมีมะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระ

และพันธุ์ปากช่อง 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาภายหลัง โดยมีลักษณะเด่นคือทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน